top of page
Writer's pictureP'Sandy - Arise BKK

“ไว้อาลัยให้กับคนที่เรารัก... ทั้งๆที่เขายังมีชีวิตอยู่” ตอนที่ 1

บทความนี้อาจจะไม่ได้เขียนเพื่อผู้ที่กำลังบำบัดโดยตรงได้อ่าน แต่ตั้งใจมอบให้กับผู้ปกครองหรือคนรัก ที่ต้องดูแลคนที่มีพฤติกรรมเสพติดค่ะ

ปกติแล้วเมื่อคนใกล้ตัวที่เรารักมีอันต้องเสียชีวิตลง แน่นอนเราย่อมรู้สึกเศร้าโศก เสียใจ เพราะเมื่อความตายได้เกิดขึ้นกับคนที่เรารัก แม้คนที่ยังอยู่ข้างหลังจะเสียใจอีกเท่าใด ก็ไม่มีใครจะเอาชีวิตของเขาฟื้นกลับคืนมาได้ ไม่ช้าก็เร็วเราก็ต้อง “ไว้อาลัย” ให้การสูญเสีย ซึ่งกระบวนการนี้ แม้จะต้องใช้เวลาทำใจนานเท่าใด เราก็ต้องทำใจให้ได้ เพราะความตายนั้นเป็นจุดจบที่ไม่มีวันย้อนกลับ


แล้วถ้าเราต้องไว้อาลัยให้กับคนที่ยังมีชีวิตอยู่หล่ะ?

เมื่ออ่านถึงตรงนี้ ท่านผู้อ่านหลายๆท่านที่มีคนใกล้ตัวมีพฤติกรรมเสพติด อาจจะพอเข้าใจความรู้สึกนี้ดี หรืออาจกำลังรู้สึกเช่นนี้อยู่ เมื่อใดที่พฤติกรรมเสพติดเข้าครอบงำชีวิตคนที่เรารัก คนที่อยู่รอบๆข้างก็จะเห็นถึงปัญหาต่างๆที่เกิดรอบตัวคนนั้น แต่เพราะเราไม่สามารถเข้าไปแก้ปัญหาเองได้ คนรอบข้างจะรู้สึกว่าตัวเองนั้นจนปัญญา หมดหนทาง ไม่มีพลังหรืออำนาจที่จะช่วยเหลือเขา ซึ่งเรามักจะพบว่าความรู้สึกเศร้าโศกและหมดหวังแบบนี้ เกิดขึ้นได้บ่อยกับครอบครัวที่มี ลูก หลาน หรือ แฟนอยู่ใต้พฤติกรรมเสพติด


สถานการณ์แบบนี้แหละจะตรงกับชื่อบทความที่ว่า “ไว้อาลัยให้กับคนที่เรารัก.. ทั้งๆที่เขายังมีชีวิต”

สิ่งนี้ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยสำหรับสมาชิกคนอื่นๆในครอบครัว เมื่อพบว่าคนที่เรารักหันกลับไปใช้สารเสพติดหรือแอลกอฮอลล์ แม้คนอื่นๆจะลองทำทุกวิถีทางแล้วก็ยังช่วยฉุดเขาขึ้นมาไม่ได้ หลายท่านก็มักจะเล่าถึงชีวิตที่เต็มไปด้วยความเป็นห่วง วิตกกังวล มีทั้งความเจ็บปวด ความโกรธแค้น และความอับอายปะปนกัน

สิ่งที่เกิดขึ้นจริงๆ

พี่เคยได้รับฟังคำบอกเล่าอยู่บ่อยครั้งจากหลายครอบครัว ดังเช่นคุณแม่ท่านหนึ่งถึงกับกล่าวไว้ว่า “แม่ทนไม่ไหวแล้ว” พูดขณะที่กำลังร้องไห้ “อยากให้ตายไปเลย ยังดีกว่าต้องทนเห็นลูกอยู่ในสภาพแบบนี้” หรือจากปากของแฟนที่กล่าวถึงคู่รักที่มีพฤติกรรมเสพติด “หนูจะเลิกกับแฟนแล้ว เพราะทนอยู่อย่างนี้ก็ไม่มีอนาคต” “ชีวิตของลูกกับแฟน ถูกครอบงำด้วยสารเสพติด วันๆจะคิดหาข้ออ้าง เรื่องโกหก แต่งเรื่องต่างๆ เพื่อที่จะได้เงินมาเพื่อไปซื้อสารเสพติดมาเสพ” “บางทีก็ไปเป็นหนี้ แล้วให้ที่บ้านต้องมาตามใช้หนี้”

ภาพสะท้อนของสภาพจิตใจ

ไม่ว่าใครที่ได้ยินคำแบบนี้จากคนที่เป็นแม่ หรือสามี ภรรยา แฟนก็ต้องตกใจ และไม่เชื่อหูด้วยกันทั้งนั้นมันคงเป็นไปได้ยากที่แม่จะอยากให้ลูกตายจริงๆ แต่ที่คุณแม่พูดออกมาเช่นนี้ เป็นเพราะความรู้สึกสิ้นหวังจากการใช้ชีวิตกับวงจรติดยาเสพติดของลูกมาหลายปีนั่นเอง ซึ่งเป็นภาพสะท้อนของสภาพจิตใจที่ทนต่อสถานการณ์ไม่ไหว เปรียบเสมือนเรากำลังไว้อาลัยให้กับความหวังที่ดูเหมือนจะริบหรี่ เพราะเขาเสียใจและสิ้นหวังกับศักยภาพของคนที่มีพฤติกรรมเสพติด ที่ไม่ได้เอาออกมาใช้ การที่มีคนที่มีพฤติกรรมเสพติดอยู่ในชีวิต คุณจะเห็นพฤติกรรมเสพติดของเขาต่างๆ ที่นอกจากจะครอบงำชีวิตเขาแล้ว คุณเองก็ยังรู้สึกเหมือนส่วนหนึ่งของชีวิตตัวเองค่อยๆหายไปกับตา


ไว้อาลัยให้กับส่วนหนึ่งของชีวิตตัวเอง

มาถึงตรงจุดนี้ อยากเชิญทุกคนให้ลองคิดติดตามนะค่ะ ยกตัวอย่างของคุณแม่ท่านนี้ นอกจากต้องสิ้นหวังให้กับศักยภาพของคนคนหนึ่ง "คนที่ยังมีชีวิตอยู่แล้ว" ยังต้องไว้อาลัยให้กับส่วนหนึ่งของชีวิตตัวเอง “อนาคตที่ฝันไว้สำหรับตัวเองด้วย” ชีวิตที่เคยคิดว่าคุณมีสิทธิ์ที่จะวาดฝัน เช่นแต่งงาน มีลูกที่น่ารัก ประสบความสำเร็จ ความภาคภูมิใจของครอบครัว หรือพึ่งพาได้เมื่อชราภาพ ต้องไว้อาลัยให้กับชีวิตที่คุณต้องทำงานหนักเพื่อสร้างความมั่นคง เพื่อให้สามารถใช้ชีวิตที่สะดวกสบาย แต่กลับต้องมาใช้เงินออมเพื่อรักษาคนที่รัก พาเข้าพาออกสถานฟื้นฟุหลายต่อหลายครั้ง ส่วนหนึ่งหวังว่าคนที่คุณรักจะหยุดพฤติกรรมเสพติด อีกส่วนกลัวว่าถ้าฉันไม่ทำอะไรเลยจะโดนนินทาว่าเป็นแม่ที่ไม่ดี และบ่อยครั้งต้องยืมเงินจากคนอื่น เพื่อชำระหนี้ให้คนที่คุณรัก เช่นเงินที่ยืมจากเพื่อน ประกันตัวเมื่อมีเรื่องทางกฎหมาย และยังช่วยล้างหนี้กับเอเย่นต์ยา


นอกเหนือจากความคิดและความรู้สึกที่สิ้นหวังมากขึ้นในแต่ละวัน ยังส่งผลต่อพฤติกรรมอีกด้วย หลายๆท่านถึงกับเลือกที่จะแยกตัวออกจากสังคม ใช้เวลาอยู่กับญาติ พี่น้อง เพื่อนน้อยลง เมื่อคนในบ้านมีปัญหาเกี่ยวข้องสิ่งเสพติด อาจจะเลิกไปงานสังสรรค์ งานแต่งงานและงานสังคมอื่นๆ ไม่อยากเจอคนอื่นๆ เพราะกลัวจะถามถึงคนใกล้ตัวที่มีพฤติกรรมเสพติด

มันถึงเวลาที่ต้องบอกลาอนาคตที่วาดฝันไว้แล้วหรือ?

ก่อนที่เราจะสิ้นหวังโดยสิ้นเชิง ทางที่ดีเราควรจะย้อนกลับมาถามตัวเองใหม่ว่า

เราสามารถที่จะอยู่กับสถานการณ์และ ความเป็นจริงที่เกิดขึ้นให้มีผลกระทบน้อยที่สุดได้อย่างไร? เราจะเลิกตั้งความหวังได้ไหม? และที่สำคัญคือ เราจะให้อภัยคนที่เรารักได้ไหม?


ในบทความถัดไป จะขอแนะนำวิธีการแยกแยะปัญหา และวิธีการเปลี่ยนจุดโฟกัสในชีวิต ซึ่งถ้าทำแล้วจะทำให้ความตึงเครียดน้อยลง มีสติและปัญญาที่จะแก้ไขปัญหาด้วยกันทั้งสองฝ่าย

เขียน: พี่แซนดี้

วันที่: 3 กุมภาพันธ์ 2563

#เสพติด #เลิกยา


549 views0 comments

Comments


bottom of page